ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร (GATT)
ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร (General Agreement on Tariffs and Trade) หรือ GATT คือ ข้อตกลงเกี่ยวกับพิกัดอัตราภาษีศุลกากร และการค้า โดยมีจุดประสงค์ที่จะให้ประเทศทั้งหลายตัดทอนข้อกีดขวางทางการค้าระหว่างกันให้น้อยลง โดยข้อตกลงนี้เป็น 1 ใน 3 เสาหลักที่ยู่ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO)ความเป็นมาแต่เดิมนั้น GATT เป็นข้อตกลงทางการค้าชั่วคราวในช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีองค์การการค้าระหว่างประเทศ เรียกว่า ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ. 1947 และมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1948 ซึ่ง GATT ได้จัดให้มีการเจรจาการค้าหลายฝ่ายในรูปพหุภาคีเพื่อลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคทางการค้า รวม 8 รอบ ทั้งนี้ การเจรจารอบอุรุกวัยในปี 1986 เป็นรอบสำคัญ เพราะนอกจากจะมีการเจรจาลดภาษีและอุปสรรคทางการค้า เช่นเดียวกับการเจรจารอบอื่นๆ แล้ว ยังได้ขยายขอบเขตการเจรจาเพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ทันต่อสภาวะการค้าโลก รวมทั้งได้ยกร่างกฎเกณฑ์การค้าให้ครอบคลุมในเรื่อง สินค้าเกษตร สิ่งทอ และเรื่องใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีการเจรจา เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า เรื่องมาตรการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้า เรื่องการค้าบริการ และการลดการอุดหนุนสินค้าเกษตร ให้ประเทศสมาชิกได้ถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยใช้ระยะเวลาในการเจรจานานกว่า 7 ปี จึงจะบรรลุข้อตกลงเมื่อปี 1993 และที่สำคัญที่สุด ก็คือ ประเทศสมาชิกของ GATT ที่เข้าร่วมเจรจาในขณะนั้นกว่า 120 ประเทศ ได้ตกลงที่จะยกฐานะ GATT ซึ่งเป็นเพียงข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศให้มีฐานะเป็นองค์การระหว่างประเทศ และจัดตั้งองค์การการค้าโลกขึ้น เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1995 เพื่อกำกับดูแลความตกลงต่าง ๆ ที่เป็นผลจากการเจรจาเดิมให้บรรลุผล โดยข้อตกลง GATT นั้น ถือเป็นข้อตกลงเพื่อวางกรอบกติกาการปฏิบัติต่อกันในทางการค้าระหว่างประเทศ โดยมุ่งหมายให้แต่ละประเทศลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการค้าโดยวิธีการต่างๆ เช่น การกำหนดโควต้าสินค้า หรือข้อห้ามอื่นๆ รวมทั้งการตั้งกำแพงภาษีรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปโดยเสรี และมีความเท่าเทียมกัน
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN)
เป็นองค์การทางภูมิศาสตร์การเมืองและองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันในการเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม การพัฒนาวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในพื้นที่ และเป็นการเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC)
เป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
เอเปคก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 โดยมีจุดประสงค์ มุ่งเน้นความเจริญเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาค และผลักดันให้การเจรจาการค้าหลายฝ่าย รอบอุรุกวัย ประสบผลสำเร็จ ขณะเดียวกัน เอเปคก็ต้องการถ่วงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรป อีกด้วย
เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area - AFTA)
เป็นข้อตกลงทางการค้า สำหรับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด
ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement : NAFTA)
เป็นองค์กรทางเศรษฐกิจในทวีปอเมริกาเหนือ ในการที่จะร่วมมือกันแสวงหาตลาดส่งออกและลดต้นทุนการผลิตสินค้า เพื่อให้มีราคาถูกลง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้หลังจากที่สหภาพยุโรป ได้แก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยการเปิดตลาดเสรีเป็นตลาดเดียวแล้ว ผู้นำแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดาและเม็กซิโกได้จัดประชุมกันเมื่อ พ.ศ. 2535 ที่จะเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกันให้เป็นตลาดเดียว และจะลดอัตราภาษีศุลกากรให้เหลือร้อยละ 0 ภายใน 5 ปี โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2537 เป็นต้นไป
องค์การการค้าโลก (World Trade Organization:WTO)
เป็นองค์การนานาชาติสังกัดองค์การสหประชาชาติ(UN) ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงทางด้านการค้าระหว่างชาติ เป็นเวทีสำหรับการเจรจาต่อรอง ตกลงและขจัดข้อขัดแย้งในเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ทางการค้าและการบริการระหว่างประเทศสมาชิก
องค์การการค้าโลกจัดตั้งขึ้นแทนความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุบันมีสมาชิก 153 ประเทศ ประเทศล่าสุดที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคือหมู่เกาะ Cape Verde ซึ่งได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2008 มีงบประมาณปี พ.ศ. 2549 175 ล้านฟรังก์สวิส (5,170 ล้านบาท) มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสำนักเลขาธิการ 635 คน เลขาธิการคนปัจจุบันชื่อนายปาสกัล ลามี สืบต่อจากนายศุภชัย พานิชภักดิ์ ที่ดำรงตำแหน่งต่อจาก นายไมค์ มัวร์ อีกที
องค์การการค้าโลก จะทำหน้าที่ดูแลข้อตกลงย่อย 3 ข้อตกลง คือ ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร (General Agreement on Tariff and Trade; GATT) ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้, ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Services; GATS) และ ความตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา (The agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights; TRIPS)